สังเกตอาการ ‘หูตึง’ ด้วยตัวเอง

เคยเรียกเพื่อนเท่าไรแล้วเพื่อนก็ไม่ได้ยินไหมคะ เรามักชอบแซวกันว่าคนๆ นั้น “หูตึง” แม้ว่าจะเป็นการเปรียบเปรยที่อาจจะฟังดูเกินจริงไปสักนิด แต่อาจจะมีหลายคนที่อยากจะทดสอบดูเหมือนกันว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะหูตึงจริงหรือเปล่า เรามีวิธีง่ายๆ มาให้ได้ลองทำกันดูค่ะ

หูตึง คืออะไร?
อย่างที่ทราบกันดีว่า อาการหูตึง หมายถึงอาการที่เราเริ่มจะไม่ค่อยได้ยินเสียงอะไรอย่างชัดเจน ตามปกติเราควรจะได้ยินเสียงที่ดังกว่า 25 เดซิเบล แต่ไม่เกิน 90 เดซิเบล อาการหูตึงสามารถเป็นเพียงแค่หูข้างเดียว หรือหูทั้งสองข้างเลยก็ได้

หากมีอาการหูตึงเล็กน้อย อาจจะไม่ได้ยินเสียงที่เบามากๆ หรือเสียงกระซิบ หากหูตึงระดับปานกลาง หมายถึงจะเริ่มไม่ค่อยได้ยินเสียงระดับที่เป็นบทสนทนาทั่วไป หากหูตึงมากๆ อาจไม่ได้ยินเสียงดังๆ และอาจถึงขั้นได้ยินเสียงตะโกนที่ดังมาก ในระดับที่เบาๆ หรือได้ยินเพียงเล็กน้อย

หูตึง เกิดจากอะไร?

– หูตึงจากการฟังเสียงดัง
โดยส่วนมาก อาการหูตึงมักเกิดจากการฟังเสียงดังนานๆ จนทำให้เซลล์ขนในชั้นหูชั้นในถูกทำลาย (ความดังของเสียงราวๆ มากกว่า 85 เดซิเบลขึ้นไป) โดยอาจเป็นอาการหูตึงชั่วคราว หรือหูตึงแบบถาวรก็ได้ หากเป็นอาการหูตึงจากการฟังเสียงดังนานๆ จะไม่มีวิธีรักษา จึงไม่ควรอยู่ในพื้นที่ที่เสียงดังมากจนเกินไปเป็นระยะเวลานานๆ หรือหากจำเป็นต้องทำงาน ควรมีที่อุดหูเพื่อช่วยลดระดับความดังของเสียง

– หูตึงจากโรคน้ำมนหูไม่เท่ากัน (มินิแอร์)
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เกิดจากความดันของเหลวในหูชั้นในสูงเกินปกติ ทำให้เซลล์ขนของหูชั้นในถูกทำลาย โดยมีอาจอาการเหมือนประสาทหูเสื่อม มีเสียงอื่นๆ ดังรบกวนในหู และมีอาการเวียนศีรษะ โดยอาการเริ่มแรกอาจจะเริ่มจากไม่ค่อยได้ยินเสียงแบบเป็นๆ หายๆ โดยอาจเริ่มจากเสียงทุ้มก่อน หลังๆ อาจเริ่มมีอาการเวียนศีรษะที่รุนแรงขึ้น คลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการรักษาด้วยการทานยา หรือผ่าตัด

– หูตึงจากยา
อาการหูตึงอาจเกิดมาจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ สารประกอบจำพวกสารหนู ตะกั่ว ปรอท และยาปฏิชีวนะ เช่น ยาแก้อักเสบต่างๆ หากหยุดยาอาการอาจดีขึ้น หรือบางรายอาจมีอาการหลังรับยาไปได้สักระยะ หากมีอาการหนักจนรบกวนการใช้ชีวิต ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขาเปลี่ยนเป็นยาที่เหมาะสม

– หูตึงเพราะอายุสูงขึ้น
เรียกง่ายๆ ว่าเป็นอาการหูตึงที่มาพร้อมกับอายุที่สูงขึ้นนั่นเอง เมื่อคนเราอายุเกิน 50 เซลล์ต่างๆ ในร่างกายก็จะเริ่มเสื่อมถอยลง เซลล์ขนในหูชั้นในอาจค่อยๆ เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา โดยอาจเริ่มจากการเริ่มฟังโทนเสียงแหลมไม่ได้ยิน จนกระทั่งลามมาถึงเสียงในระดับการสนทนาปกติ แม้ว่าจะเป็นอาการหูตึงที่รักษาไม่ได้ แต่มีเครื่องช่วยฟังที่สามารถใช้ช่วยผู้สูงอายุได้

– หูตึงจากเนื้องอกของเส้นประสาทหู
หูตึงจากเนื้องอกของเส้นประสาทหู จะมีอาการหูตึงเพียงข้างเดียว โดยอาการจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เริ่มมีเสียงดังรบกวนในหู เริ่มฟังไม่ค่อยชัด จับใจความ หรือจับเป็นคำพูดไม่ค่อยได้ (สังเกตได้จากตอนคุยโทรศัพท์ด้วยหูข้างที่มีปัญหา) หากเนื้องอกโตมากๆ อาจกดทับประสาทจนทำให้มีปัญหาการมองเห็น หรือหน้าเบี้ยว และเริ่มทรงตัวไม่ค่อยดี

– หูตึงเฉียบพลัน หรือหูดับ
เกิดจากการติดเชื้อของหูชั้นใน โดยโลหิตมาหล่อเลี้ยงหูชั้นในไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากเนื้องอกกดทับเส้นประสาทหู มากดทับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหูชั้นในต่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งอันตรายมาก ควรพบแพทย์ด่วนที่สุด

– หูตึงจากอุบัติเหตุในหูชั้นใน
เกิดจากหูถูกกระทบกระแทก ถูกตีที่กกหู หรือถูกตี ถูกกระแทกอย่างแรงจากด้านหลังศีรษะ จนทำให้กระดูกหูชั้นในแตก หรือร้าว โดยอาจมีอาการเพียงหูตึงเล็กน้อย ไปจนถึงหูหนวกได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ มีอาการชาบริเวณใบหน้าในส่วนที่ใกล้เคียงกับหูข้างที่มีปัญหา อาการแบบนี้ควรได้รับความดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

วิธีสังเกตอาการ “หูตึง” ด้วยตัวเอง
ลองฟังเสียงกระซิบในระยะ 10 เซนติเมตร หรือยกมือขึ้นในระยะใกล้ๆ หู ราวๆ 1 นิ้ว ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งถูกันจนเกิดเสียงเบาๆ ระดับเสียงนี้จะอยู่ที่ราวๆ 30 เดซิเบล หากได้ยินแปลว่าหูยังปกติอยู่ แต่หากไม่ได้ยินแสดงว่าอาจมีความเสี่ยงที่จะมีอาการหูตึง

หากใครที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองมีอาการหูตึงหรือไม่ หรือมีอาการผิดปกติจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพของหู จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านคอ หู จมูก ได้ตามสถานพยาบาลใกล้บ้านค่ะ